เมื่อวันที่สิบเอ็ดสิงหาคม สสค.ได้ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศโครงการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ทบทวนสถานการณ์ความก้าวหน้าของโครงการคัดเลือกเชิดชูครูสอนดีที่กำลังก้าวเข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” โดยมีรายงานจากคณะติดตามซึ่งได้ออกมาสังเกตการณ์จังหวัดต่างๆ ในเดือนที่ผ่านมาแล้วจำนวนกว่า 30 จังหวัดในภาพรวมมีหลายจังหวัดที่การคัดเลือกรุดหน้าไปตามกำหนดแต่ก็มีบางจังหวัดที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางของโครงการ
การเบี่ยงเบนที่พบเห็นนั้นน่าเสียดายว่ามักมาจากความพยายามที่จะกำหนดรายละเอียดทางเทคนิคของการคัดเลือกครูสอนดี โดยมีบางจังหวัดได้นำแนวทางพิจารณา ”กระดาษ” กลับมาใช้ จึงส่งผลให้คุณครูที่จะเข้าร่วมโครงการต้องจัดส่งเอกสารผลงานวิชาการจำนวนมากเหมือนกับการประเมินวิทยฐานะตามระบบเดิม มีครูจำนวนไม่น้อยที่ระอากับภาระดังกล่าวจึงละโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งๆ ที่มีพยานรู้เห็นหลายคนเห็นว่าท่านเหล่านั้นมีคุณลักษณะ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” เข้าข่ายที่ควรจะได้รับการพิจารณา
แนวคิดหลักของโครงการครูสอนดีนั้นมิได้เน้นการประเมินจากเอกสารหรือ “งานกระดาษ” แต่อาศัยหลักผู้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมคัดเลือกครูที่ชุมชนเห็นร่วมกันว่าครูผู้ใดสมควรเป็นครูสอนดีของชุมชน ครูสอนดีของแต่ละชุมชนที่มีลักษณะแตกต่างกันจึงอาจมีคุณลักษณะรายละเอียดที่แตกต่างกันได้หากแต่เหมาะสมกับสภาพของชุมชนนั้นๆ โดยมีหลักการใหญ่ร่วมกันสามประการคือ
(1) สอนเป็นหมายถึงจัดกระบวนการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพ (2) เห็นผล หมายถึงศิษย์ได้วิชาความรู้ประสบความสำเร็จตามสภาพของชุมชนอันรวมถึงศิษย์ปัจจุบันและอาจพิจารณาถึงศิษย์เก่าด้วย (3) คนยกย่อง หมายถึงตัวครูเองมีจริยาวัตรที่ดีสมเป็นครูและเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป
คุณลักษณะสามประการข้างต้นสามารถสังเกตเห็นประจักษ์ได้ในหมู่คนในชุมชนเอง มิใช่ด้วยการตรวจสอบเอกสารเป็นหลัก ดังนั้นการเสนอชื่อจึงเริ่มจากให้มีการหารือร่วมกันของภาคีสี่ฝ่าย ได้แก่ ผู้ปกครอง เพื่อนครู นักเรียนรวมถึงศิษย์เก่าและผู้บริหารโรงเรียน
เมื่อเราคำนึงถึงสภาพชุมชนดังนี้ครูโรงเรียนดังในเมืองหลวงกับครูประชาบาลในชนบทจึงได้รับโอกาสเข้ารับพิจารณาคัดเลือกเท่าเทียมกัน
โครงการยังได้เปิดโอกาสให้กับ “ครูนอกเครื่องแบบ” หรือครูที่มิได้สอนหรือสังกัดอยู่กับโรงเรียน ซึ่งโดยมากมักจะสอนเด็กเยาวชนด้อยโอกาส โดยครูประเภทหลังนี้สามารถได้รับการเสนอชื่อโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของพื้นที่หรือโดยองค์กรสาธารณประโยชน์เสนอผ่านอปท. ขณะนี้การเสนอชื่อครูสอนเด็กด้อยโอกาสยังมีน้อยกว่าเป้าหมายเช่นกัน
อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคดังกล่าวในบางพื้นที่แต่ เสียงสะท้อนโดยภาพรวมจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดจนเสียงตอบรับจากบรรดาคุณครูในทุกจังหวัดที่คณะติดตามออกไปสัมผัสล้วนสะท้อนออกมาในทางบวก โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่แต่เดิมมีความเข้าใจผิดแต่เมื่อวิทยากรได้อธิบายแล้วแทบทุกแห่งก็เห็นประโยชน์และคุณค่าของโครงการโดยเห็นว่าเป็นโอกาสใหม่ของการการเชิดชูครูดีที่แตกต่างไปจากระบบตรวจเอกสาร
โดยในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ สสค.จะได้เชิญผู้แทนจังหวัดเข้าไปร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทบทวนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่ดีขึ้นในการขับเคลื่อนการเฟ้นหาครูสอนดีในช่วงต่อไปสมาชิกสสค.ที่สนใจหรือมีโอกาสร่วมกับกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีที่ผ่านมา หากมีความคิดเห็นประการใดก็ขอเชิญสะท้อนกลับไปยังทีมงานสสค. โดยเรายินดีเปิดพื้นที่ในเว็บไซต์ให้ได้แลกเปลี่ยนทรรศนะกัน
จาก จดหมายถึงเพื่อนสมาชิก สสค. ฉบับที่ 30